ผู้อ่านหลายท่านคงเคยพบเจอผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะติดเตียงใช้เวลาในการนอนทั้งวันจนไม่ยอมทำกิจวัตรประจำวันทั้งที่ตัวผู้สูงอายุเองก็มีสุขภาพแข็งแรงและหลายครั้งก็คงจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “คนแก่จะให้ทำอะไรมากมาย” ในบทความนี้ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง LTC Nursing Home จึงอยากจะพูดถึงสาเหตุและการป้องกันภาวะติดเตียงของผู้สูงอายุที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เพื่อเป็นแนวทางการดูแลและป้องกันภาวะติดเตียงให้กับผู้อ่านที่มีผู้สูงอายุอยู่ในครอบครัว
ภาวะการนอนติดเตียง คือ ภาวะที่ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองได้และจำเป็นที่จะต้องมีผู้คอยช่วยเหลือ สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะติดเตียงของผู้สูงอายุส่วนใหญ่มาจากการที่ร่างกายเริ่มเสื่อมโทรมจนทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกเหนื่อยง่าย, ไม่สบายตัว, เจ็บหรือปวดตามข้อจนไม่อยากขยับตัว ในบางรายอาจจะเกิดมาจากการที่ลูกหลานกังวลว่าผู้สูงอายุจะพลัดตกหกล้มจึงไม่อยากให้ขยับตัวมากจนตัวผู้สูงอายุเริ่มชินกับการไม่ขยับตัวทำกิจกรรมด้วยตัวเองหรือแม้กระทั่งภาวะจิตใจของตัวผู้สูงอายุเองที่อาจเคยมีประสบการณ์จากการพลัดตกหกล้มซึ่งส่งผลให้กลัวและไม่กล้าที่จะเดินจนกล้ามเนื้อเริ่มฝ่อหรือข้อพับต่างๆเริ่มเกิดการติดแข็งและสุดท้ายกลายเป็นผู้สูงอายุติดเตียงที่ไม่สามารถขยับร่างกายได้เอง จะเห็นได้ว่าจากเรื่องเล็กๆน้อยๆที่ผู้สูงอายุไม่ยอมขยับเขยื้อนร่างกายหรือทำกิจวัตรประจำวันอาจส่งผลให้ตัวผู้สูงอายุที่แข็งแรงไม่มีโรคภัยไข้เจ็บสามารถกลายเป็นผู้สูงอายุติดเตียงได้ซึ่งการนอนติดเตียงจะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาอีก เช่น แผลกดทับจากการนอนท่าเดิมนานๆ, ข้อติดแข็งจากการที่ไม่ได้ขยับเขยื้อนร่างกาย, ภาวะทุพโภชนาการจากการที่ไม่ยอมรับประทานอาหารซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้แพทย์ต้องตัดสินใจใส่สายยางให้อาหาร, กล้ามเนื้อลีบและฝ่อ รวมไปถึงภาวะปอดแฟบที่เกิดจากการหายใจตื้นเนื่องจากอยู่ในท่านอนนานๆ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะส่งผลโดยตรงต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้นเนื่องจากจำเป็นต้องมีคนคอยดูแลใกล้ชิดเพื่อคอยช่วยเหลือด้านกิจวัตรประจำวัน อีกทั้งค่าใช้จ่ายที่จะตามมาจากอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ที่ต้องใช้เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่ติดเตียง ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันภาวะติดเตียงในผู้สูงอายุที่ไม่ได้มีโรคใดๆที่ส่งผลให้ต้องนอนติดเตียง บุตรหลานควรหมั่นชวนผู้สูงอายุพูดคุยและพาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อช่วยเสริมสร้างกำลังใจให้กับผู้สูงอายุและพยายามดูแลใกล้ชิดอย่าปล่อยปละละเลยการทำกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุคุ้นชินกับการไม่ทำกิจวัตรประจำวัน อีกทั้งการดูแลใกล้ชิดยังสามารถช่วยระวังป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุต่างๆให้กับผู้สูงอายุอีกด้วย