ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง LTC
โดยทีมแพทย์และพยาบาลมืออาชีพ

ทำอย่างไรเมื่อต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียง ?

ผู้อ่านหลายท่านอาจจะคุ้นเคยกับภาพของผู้ป่วยที่สภาพร่างกายอยู่ในสภาวะเสื่อมโทรมจนต้องนอนอยู่บนเตียงเพียงอย่างเดียวและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้จำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่นในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน ผู้ป่วยติดเตียงเหล่านี้ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดสมอง, อุบัติเหตุ, การผ่าตัดหรือแม้แต่สาเหตุจากสภาพจิตใจของตัวผู้ป่วยเอง การนอนติดเตียงนั้นผู้ป่วยอาจรู้สึกตัวหรือไม่รู้สึกตัวก็ได้ ซึ่งภาวะการนอนคิดเตียงนี้เป็นภาวะที่สามารถเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่ายและอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในท้ายที่สุด ในบทความนี้ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง LTC Nursing Home จะมาแนะนำปัจจัยในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆตามมา

 

1. ที่นอน

ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสนใจเรื่องที่นอนของผู้ป่วยติดเตียง เนื่องจากการใช้ชีวิตของผู้ป่วยติดเตียงนั้นเกือบตลอดเวลาจะต้องอาศัยอยู่บนที่นอน ดังนั้นจึงสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องเลือกที่นอนที่สามารถกระจายน้ำหนักได้ดีเพื่อไม่ให้น้ำหนักตัวของผู้ป่วยกดลงไปที่ร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งโดยเฉพาะ โดยเราแนะนำให้เลือกใช้ที่นอนที่ทำจากยางพารา, ที่นอนเมมโมรี่โฟม, ที่นอนลมหรือที่นอนน้ำ โดยที่นอนลมหรือที่นอนน้ำจะมีมอเตอร์สำหรับหมุนเวียนลมเพื่อช่วยให้ตัวที่นอนแข็งและอ่อนสลับกันเพื่อลดแรงกดเฉพาะจุดได้

 

2. แผลกดทับ

เนื่องจากผิวหนังของผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุนั้นสูญเสียความยืดหยุ่น เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงผิวหนังได้น้อยลง รวมไปถึงชั้นไขมันใต้ผิวหนังลดลง ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยติดเตียงนอนอยู่บนที่นอนนานๆน้ำหนักตัวที่กดลงบนที่นอนก็จะทำให้เกิดแผลกดทับซึ่งเกิดจากที่เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงผิวหนังบริเวณนั้น ส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นถูกทำลาย โดยส่วนมากแผลกดทับจะเกิดบริเวณปุ่มกระดูก เช่น บริเวณก้นกบ, สะโพก, ส้นเท้า, ตาตุ่ม เป็นต้น แผลกดทับที่รุนแรงแล้วจะมีลักษณะเป็นโพรงลึกจนสามารถมองเห็นกระดูกได้ ผู้ดูแลสามารถช่วยเหลือไม่ให้ผู้ป่วยติดเตียงเกิดแผลกดทับได้โดยการช่วยพลิกตะแคงตัวอย่างน้อยทุกๆ 2 ชั่วโมงและไม่ควรให้ผิวหนังของผู้ป่วยติดเตียงเปียกชื้นเพื่อลดปัญหาของโรคผิวหนัง

 

3. อาหาร

ในกรณีที่ผู้ป่วยติดเตียงไม่ต้องใช้การให้อาหารทางสายยางก็ควรที่จะต้องให้ผู้ป่วยติดเตียงรับประทานอาหารในท่านั่งปรับหรือปรับให้หัวเตียงสูง ไม่ควรให้ผู้ป่วยติดเตียงรับประทานอาหารในท่านอนเด็ดขาดเพราะอาจะเกิดการสำลักและนำไปสู่โรคปอดอักเสบหรือติดเชื้อ หลังจากรับประทานเสร็จก็ควรให้อยู่ในท่านั่งอย่างน้อย 1 ชม. แล้วถึงจะปรับให้เป็นท่านอน ส่วนในผู้ป่วยที่ต้องใช้การให้อาหารทางสายยางก็ควรปฏิบัติเช่นเดียวกันและเพิ่มการระมัดระวังไม่ให้สายให้อาหารเลื่อนหลุด รวมไปถึงการดูแลความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้ในการให้อาหารเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ

 

4. การขับถ่าย

ผู้ดูแลควรจะต้องดูแลเปลี่ยนผ้าอ้อมให้กับผู้ป่วยติดเตียงทุกๆ 2 ชม. หรือทุกครั้งหลังขับถ่ายเพื่อไม่ให้เกิดการอับชื้น ในกรณีผู้ป่วยติดเตียงที่คาสายสวนปัสสาวะ ผู้ดูแลจำเป็นที่จะต้องหมั่นดูแลทำความสะอาดด้วยน้ำสบู่อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และต้องเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะที่โรงพยาบาลทุกๆ 4 สัปดาห์ รวมถึงให้คอยสังเกตสีของปัสสาวะ หากมีสีขาวขุ่นผิดปกติหรือปัสสาวะไม่ออกควรพาไปพบแพทย์ทันที

 

5. การทำความสะอาดร่างกาย

ผู้ดูแลควรเช็ดทำความสะอาดร่างกายให้ผู้ป่วยติดเตียงอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งและสระผมวันเว้นวัน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เพื่อสุขอนามัยที่ดี

 

6. แผลเจาะคอ

สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีแผลเจาะคอ ผู้ดูแลมีสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือ ต้องระวังการอุดตันของช่องทางเดินหายใจจากเสมหะ ควรดูดเสมหะทุกๆ 2 ชม. หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับปริมาณของเสมหะ ผู้ดูแลสามารถสังเกตปริมาณของเสมหะได้โดยการสังเกตลักษณะการหายใจ ปริมาณ, สีและลักษณะของเสมหะ นอกจากนี้ควรมีการถอดเอาท่อด้านในออกมาล้างทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์และลวกน้ำร้อนเพื่อฆ่าเชื้อโรคด้วย

 

7. ปัญหาข้อติดและกล้ามเนื้อฝ่อลีบ

เนื่องจากผู้ป่วยติดเตียงจะสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้น้อย การอยู่ในท่าเดิมนานๆจะส่งผลให้ข้อพับต่างๆไม่สามารถเหยียดออกหรือพับได้ซึ่งเมื่อเป็นแล้วสามารถแก้ไขได้ยาก วิธีแก้ไขที่ดีที่สุดคือการป้องกันซึ่งผู้ดูแลต้องหมั่นทำกายภาพให้ทุกวันในตอนเช้าและเย็นเป็นอย่างน้อย

 

8. ภาวะปอดแฟบ

เมื่อผู้ป่วยนอนติดเตียงเป็นเวลานานจะทำให้มีลักษณะการหายใจที่ตื้นกว่าปกติและจะทำให้ปอดไม่ขยาย เมื่อนานเข้าจะเกิดเป็นภาวะปอดแฟบส่งผลให้ไม่สามารถหายใจได้เต็มที่ ในกรณีผู้ป่วยติดเตียงมีภาวะปอดแฟบอาจต้องมีการให้ออกซิเจนเพิ่มเติม สำหรับการป้องกันคือการให้ผู้ป่วยติดเตียงเปลี่ยนอิริยาบถจากนอนเป็นการนั่งบ้างและอาจเพิ่มเติมด้วยการฝึกหายใจเพื่อให้ปอดขยายตัว

 

9. การพลัดตกจากเตียง

ผู้ดูแลควรให้ความใส่ใจและไม่ประมาทโดยการนำราวกั้นเตียงขึ้นทุกครั้งหลังช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงทำกิจกรรมเสร็จ ควรล็อคล้อเตียงให้เรียบร้อยในกรณีที่เตียงสามารถเคลื่อนที่ได้ อีกทั้งต้องจัดสภาพแวดล้อมภายในห้องพักของผู้ป่วยให้เป็นระเบียบอยู่เสมอ

 

10. สุขภาพจิตของผู้ป่วยติดเตียง

นอกจากสุขภาพของผู้ป่วยติดเตียงที่จะเสื่อมโทรมลง ปัญหาอีกด้านที่สำคัญคือปัญหาด้านสุขภาพจิตซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ดูแลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคอยเอาใจใส่ ถึงแม้ผู้ป่วยติดเตียงแต่ละรายจะมีภาวะของโรคที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่มีเหมือนกันคือความเบื่อหน่ายและความทุกข์ วิธีที่ผู้ดูแลจะช่วยได้คือการพูดคุยหรือจัดหากิจกรรมมาทำร่วมกับผู้ป่วยเพื่อให้ผ่อนคลายและลดความเศร้าซึ่งเป็นการฟื้นฟูทางด้านจิตใจให้กับผู้ป่วยติดเตียง

LTC Love Taking Care

ติดต่อเรา

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ LTC Nursing Home

เลขที่ 3/71 ซ.ชมพูนิช ถ.ประดิษฐ์มนูธรรม แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กทม. 10230

โทรศัพท์ : 086-463-9800 , 088-676-1548